ในสมรภูมิที่ร้อนระอุของธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า เดิมทีคู่ต่อสู้หลักอยู่ที่แบรนด์ญี่ปุ่นกับแบรนด์จากฝั่งตะวันตกเป็นหลัก ก่อนที่แบรนด์เกาหลีจะเข้ามาตีตลาดจนกระจุย ทำให้หลายกลุ่มสินค้าต้องเสียส่วนแบ่งตลาดไปอย่างมหาศาล
จนเมื่อปี 2549 แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากไฮเออร์ (Haier) ก็เข้ามาในเมืองไทย นับเป็นการประกาศศึกครั้งใหม่จากแบรนด์จีนที่ทรงพลัง เนื่องจากไฮเออร์ไม่ได้เป็นเพียงแบรนด์ในประเทศเท่านั้น แต่ได้ทำตลาดกับผู้บริโภคกว่า 100 ประเทศและมีชื่อชั้นที่การันตีถึงความนิยมอยู่ไม่น้อย
แต่เส้นทางของไฮเออร์ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบในทุกพื้นที่จำหน่ายกว่า 10ปีที่ผ่านมา “ไฮเออร์ เอเชีย” (หรือเมื่อ 12ปีก่อน คือแบรนด์ “ซันโย” ก่อนที่ไฮเออร์จะเข้ามาซื้อกิจการ) ประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอด ล่าสุดก็ได้ประกาศความสำเร็จครั้งใหญ่ ด้วยการสร้างกำไรครั้งแรกในรอบ 15ปี โดยฝีมือของ “โยชิอากิ อิโตะ” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฮเออร์ เอเชีย จำกัด ซึ่งชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันดีในนามนักปลุกชีพที่มีประสบการณ์ในการพลิกวิกฤติของแบรนด์ต่าง ๆ จากลบให้เป็นบวกมาหลายบริษัทแล้ว
กุมภาพันธ์ 2557 “โยชิอากิ อิโตะ” เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอของไฮเออร์ เอเชีย จากการทาบทามของประธานกลุ่มไฮเออร์ และตอนนี้ผลงานของเขาก็เริ่มเป็นที่ประจักษ์แล้ว
กลยุทธ์ของเขาคือ “Change” เปลี่ยนทั้งการผลิต การตลาด การขาย และการบริหาร ภายใต้เป้าหมายพลิกฟื้นธุรกิจจากการขาดทุนให้มีกำไร สิ่งสำคัญที่เริ่มต้นและเห็นผลได้ชัดคือการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร โดยมุ่งไปที่การปรับโครงสร้างผู้บริหาร จากเดิมที่มีถึง 15 ระดับ ให้เหลือเพียง 4 ระดับ ทำให้การทำงานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
กำไรครั้งแรกในรอบ 15 ปี คือจุดเริ่มต้น จากนี้ไปเขาตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้ผลประกอบการของไฮเออร์ เอเชีย เติบโต 2 เท่าภายใน 3 ปี
“ตอนนี้คือการหยุดภาวะเลือดไหลได้แล้ว ก้าวต่อไปคือเป้าหมายการสร้างการเติบโต และเมืองไทยก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เนื่องจากมีฐานที่ตั้งที่ดีที่สุดในอาเซียน และคนไทยก็เป็นบุคลากรที่มีความสามารถ”
เขาขยายความว่า วิธีที่จะสร้างการเติบโตต่อไปประกอบด้วยนวัตกรรมสินค้า การขยายตลาดและบุกตลาดในรูปแบบ B2B และ B2G มากขึ้น
ในส่วนของนวัตกรรม เดือนมิถุนายนนี้จะมีการประชุมของไฮเออร์เอเชียในประเทศญี่ปุ่น และนวัตกรรมครั้งแรของโลกจะเผยโฉมขึ้นที่นี่ เช่น เครื่องซักผ้าขนาดเล็กที่สุดในโลก น้ำหนักน้อยกว่า 200 กรัม ใช้น้ำ 5 CC ใช้เวลาวิจัยและพัฒนาราว 6 เดือน จากนักวิจัยของไฮเออร์ 3คน รวมทั้งสินค้าใหม่อีกหลายรายการที่จะเปิดตัวและจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเป็นที่แรก และแน่นอนว่าจะมีการพิจารณาเพื่อนำมาจำหน่ายในเมืองไทยเช่นกัน
“แนวทางนี้ก็เหมือนของวิเศษโดเรมอน ใครบอกว่าเครื่องซักผ้าต้องใช้น้ำ หรือจะพกพาไม่ได้” โยชิอากิ อิโตะ กล่าวด้วยรอยยิ้ม และนี่คือภาพลักษณ์ใหม่ของไฮเออร์ที่เริ่มต้นตั้งแต่ตัวของซีอีโอ ที่กล้าเรียกตัวเองว่า “ผู้นำบ้าบิ่น”
เขายังย้ำถึงข้อดีของไฮเออร์ว่า ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งด้านนวัตกรรมจากซันโย บวกกับการจัดซื้อจัดหาในระดับ Global Scale คือแต้มต่อที่จะถูกนำออกมาใช้
ส่วนของการขยายตลาด ก็จะออกลุยทุกรูปแบบ เช่นที่ผ่านมา ได้เข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สปป.ลาวเพื่อทำสัญญาร่วมกัน และขยายความร่วมมือในลักษณะนี้ไปประเทศอื่น ๆ
ด้านการลงทุน ได้ลงทุน 85 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับศูนย์วิจัยในญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาสินค้าประเภทตู้เย็นและเครื่องซักผ้า เพื่อป้อนให้กับตลาดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์แห่งนี้สามารถรองรับการทำงานของวิศวกรได้ 800 คน โดยปัจจุบันมีวิศวกรที่ทำงานอยู่ 250คน และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“สยามธุรกิจ” มีโอกาสเดินทางเข้าชมโรงงานของไฮเออร์ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งผลิตสินค้าประเภทตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศเป็นหลัก พบกับซีอีโอไฮเออร์เอเชีย ซึ่งได้ประกาศว่า ไทยจะเป็นศูนย์กลางสำหรับภูมิภาคนี้ โดยจะผลิตและส่งออกไปยัง พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ในโรงงานแห่งนี้ยังมีศูนย์ CAC : Commercial Air Conditioner เพื่อใช้เป็นศูนย์ฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบเครื่องปรับอากาศให้กับทีมงานและลูกค้า โดยคาดว่าปีนี้จะทำการฝึกอบรมได้ประมาณ 200 คน รองรับทั้งตลาดในไทย และประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม โดยวางเป้าหมายเบื้องต้นที่จะเพิ่มยอดขายเครื่องปรับอากาศในอาเซียนให้เติบโตอีก 3 เท่าตัวในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งตอนนั้นก็จะเข้าสู่ความเป็นTop 10 ของตลาด
และการปรับเปลี่ยนที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ชื่อของแบรนด์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ชื่อสินค้าในแต่ละประเทศ ยังมีความแตกต่างกัน โดยไทยใช้แบรนด์ไฮเออร์ เวียดนามใช้แบรนด์ซันโย มาเลเซียและอินโดนีเซียใช้ทั้งไฮเออร์และซันโย ส่วนญี่ปุ่นใช้แบรนด์อะควา (Aqua)และไฮเออร์ โดย 3 ปีหลังจากนี้ แบรนด์ซันโยจะเปลี่ยนเป็นอะควาทั้งหมด
หลังจากนี้ไปจะเห็นการลงทุนของไฮเออร์ เอเชียมากขึ้น โดยได้เริ่มต้นแล้วที่พม่า จำนวน 400ล้านบาท และจะเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย เวียดนาม เป็นลำดับต่อไป
ผลประกอบการของไฮเออร์ กรุ๊ปในปีที่ผ่านมา มีรายได้ 3.2 แสนล้านบาท เติบโต11% โดยยอดขายของไฮเออร์ เอเซีย อยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท โดย 50% มาจากญี่ปุ่น
ภาพของไฮเออร์ เอเชียในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาสินค้า เพื่อรองรับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค Internet of Thing เขาต้องการสร้างไฮเออร์ เอเชีย ให้แตกต่างจากไฮเออร์ในจีน หากต้นแบบนี้สำเร็จก็สามารถขยายไปใช้กับไฮเออร์กรุ๊ปได้ด้วย และชื่อของไฮเออร์ เอเชียก็จะเป็นบริษัทของคนเอเชีย ไม่ใช่แค่จีนหรือญี่ปุ่นอีกต่อไป
ขอขอบคุณแหล่งที่มาจาก Siam Turakij Weekly (30 May - 5 June 2015)